MICROCONTROLLER

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคท้องมา

โรคท้องมาน

(รูปที่ 1ท้องมาน ,http://thedoctorstory.blogspot.com)
               เป็นภาวะที่มีน้ำเกิดในช่องท้องปริมาณมากผิดปกติ  เป็นสาเหตุให้ท้องบวมใหญ่  นอกจากนั้นอาจบวมตาม  แขน  ขา  มือ  เท้า  ใบหน้า  หรือรอบดวงตาร่วมด้วย
                การมีน้ำในช่องท้องปริมาณมากจะดันกะบังลมและดันปอดทั้งสองข้างให้แฟบลง  ปอดจึงทำงานได้น้อยลง  ก่ออาการแน่นอึดอัด  นอนราบไม่ได้เพราะจะหอบเหนื่อย  นอกจากนั้นน้ำในช่องท้องยังกดและเบียดดันกระเพาะอาหารและล้ำไส้  ทำให้กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อย  แน่นอึดอัดท้องอาหารไม่ย่อย  ผู้ป่วยจึงผ่ายผอม  แต่น้ำหนักตัวไม่ลดลงมากเนื่องจากน้ำหนักของปริมาณน้ำสะสมในช่องท้อง
                น้ำที่เกิดในช่องท้องในภาวะท้องมานมี  2  ลักษณะ  ได้แก่  ลักษณะเป็นน้ำใส  ไม่ค่อยมีเซลล์เจือปน  ทางการแพทย์เรียกว่า  สิ่งซึมเยิ้มใส  (Transudate)  และลักษณะเป็นน้ำข้นกว่าชนิดแรก  มีเซลล์เจือปนมากกว่าซึ่งอาจเป็นเซลล์จากการอักเสบหรือจากเซลล์มะเร็ง  หรืออาจมีเลือดปน  ทางการแพทย์เรียกว่า  สิ่งซึมเยิ้มข้น  (Exudate)
                น้ำในช่องท้องชนิดสิ่งซึมเยิ้มใสมักเกิดจากโรคตับแข็ง  ทั้งนี้เชื่อว่าการมีความดันเลือดดำตับและความดันเลือดในช่องท้องสูงขึ้น  ส่งผลให้น้ำซึมออกจากเส้นเลือดเข้าสู่ช่องท้อง  นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุให้เลือดไปหล่อเลี้ยงไตน้อยลง  ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนของไต  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย  จึงเป็นสาเหตุร่วมให้เกิดน้ำในช่องท้องหรือท้องมานเพิ่มขึ้น  รวมทั้งจากการอุ้มน้ำของเกลือโซเดียมที่บริโภคเข้าไป
                ส่วนน้ำในช่องท้องชนิดมีเซลล์สูงหรือชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้นเป็นน้ำในช่องท้องที่เกิดจากการสร้างน้ำของเซลล์ตับ   หรือเซลล์เยื่อบุช่องท้องที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ   หรือจากการสร้างน้ำของเซลล์มะเร็ง

สาเหตุ
                สาเหตุของภาวะท้องมานที่พบได้บ่อย  ได้แก่
o   โรคตับแข็ง
o   โรคตับอักเสบ
o   โรคตับวาย
o   โรควัณโรคเยื่อบุช่องท้อง
o   โรคมะเร็ง  ทั้งจากโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อตับเอง  (มะเร็งปฐมภูมิ)  และมะเร็งชนิดอื่นๆที่แพร่กระจายสู่ตับ  (มะเร็งทุติยภูมิ)  และ/หรือ  โรคมะเร็งกระจายเข้าเยื่อบุช่องท้อง  เช่น  จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  เป็นต้น

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยภาวะท้องมานได้จากประวัติการเจ็บป่วย  อาการของผู้ป่วย  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต  การตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพช่องท้อง  การเจาะหรือดูดน้ำช่องท้องเพื่อตรวจดูเซลล์  (การตรวจทางเซลล์วิทยา)  การตรวจย้อมเชื้อจากน้ำในช่องท้องด้วยกล้องจุลทรรศน์  และการตรวจเพาะเชื้อจากน้ำในช่องท้อง  นอกจากนี้อาจมีการตรวจวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษา
                ภาวะท้องมานเป็นภาวะที่รักษาและควบคุมได้ยาก  อย่างไรก็ตามการรักษามักต้องรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องมาน  เช่น  การให้ยารักษาวัณโรคเมื่อท้องมานเกิดจากเชื้อวัณโรคเยื่อบุช่องท้อง  หรือการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุ  เป็นต้น
                นอกจากนั้นอีกวิธีการรักษาที่สำคัญคือ  การทำให้ปริมาณน้ำในช่องท้องลดลง  หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้น  ที่สำคัญได้แก่  การจำกัดน้ำดื่ม  การกินอาหารจืดหรือจำกัดการบริโภคเกลือโซเดียม  การให้ยาขับน้ำ  การให้ฮอร์โมนชนิดช่วยยับยั้งการเกิดน้ำในช่องท้อง
                แต่เมื่อการรักษาต่างๆดังกล่าวไม่ได้ผล  อาจรักษาโดยการเจาะหรือดูดน้ำออกจากช่องท้องเป็นครั้งคราว  ทั้งนี้ขึ้นกับอาการแน่นอึดอัดของผู้ป่วย  และบางกรณีอาจมีการผ่าตัดเพื่อให้น้ำในช่องท้องไหลกลับเข้าเส้นเลือดดำโดยตรง  ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้ให้การรักษาได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น  และมักได้ผลน้อย  จึงยังเป็นวิธีรักษามาตรฐาน

ผลข้างเคียง
                ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมานจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าปกติเสมอ  และน้ำในช่องท้องเองก็ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย  จึงอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้  จากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงของเยื่อบุช่องท้อง  และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นคือปริมาณน้ำจะเพิ่มแรงดันในช่องท้องทำให้แน่นอึดอัด  กดเบียดทับกระเพาะอาหาร  ลำไส้  และปอด  กินไม่ได้  ท้องผูก  หายใจแน่นติดขัด  และหอบเหนื่อย
ความรุนแรง
ภาวะท้องมานมีความรุนแรงสูง  เพราะรักษาให้หายได้ยาก  นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับสาเหตุต่างๆ  เช่น  เมื่อท้องมานเกิดจากโรคมะเร็ง  ความรุนแรงโรคจะสูงสุด  และยังขึ้นกับการติดเชื้อ  โดยเฉพาะในเยื่อบุช่องท้อง  ความรุนแรงโรคจะยิ่งสูงขึ้น

การดูแลตนเองและการพบแพทย์
                การดูแลตนเองที่สำคัญ  ได้แก่
o   ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
o   กินอาหารจืด  จำกัดเกลือโซเดียม  และจำกัดน้ำดื่ม
o   รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพราะร่างกายอยู่ในภาวะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ  จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

o   พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิมโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น