MICROCONTROLLER

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคไขมันพอกตับ (Fatty liver)

โรคไขมันพอกตับ (Fatty liver)

ชื่ออื่นที่อาจเรียกขาน
ภาวะไขมันแทรกในเนื้อตับ
Fatty liver disease ( FLD )
Steatorrhoeic  hepatitis (steato = ไขมัน , rrhoeic = discharge = ปรากฎออกมา , hepatitis = ตับอักเสบ )
Steatosis  hepatitis ( steatosis= retention of lipid = สภาวะการคั่งของไขมัน , hepa = ตับ , itis = อักเสบ)
Steatohepatitis (steato = ไขมัน , hepa = ตับ , itis = อักเสบ)

ไขมันพอกตับ (fatty liver)
โดยทั่วไป ไขมันในตับจะมีประมาณร้อยละ5-10 ของน้ำหนักตับ ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่ไขมันโดยเฉพาะ Triglyceride(ไขมันในเลือด)ไปอยู่ในเซลล์ตับมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตับจะถือว่าเป็นไขมันพอกตับ

ปัจจุบันในประเทศไทยพบภาวะไขมันพอกตับได้มากขึ้นตามแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของภาวะเมตาโบลิกซินโดรม(Metabolic Syndrome) ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในโลหิตสูง ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยกลางคน อายุประมาณ 45 ถึง 50 ปีขึ้นไป ที่อัตราการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง

ไขมันพอกตับจากการดื่มสุรา
                เมื่อคนที่ดื่มสุราเป็นระยะเวลานาน เซลล์ของตับจะได้รับอันตราย โดยในระยะแรกจะมีไขมันมาพอกที่ตับ หากยังดื่มสุราต่อเนื่องจะเข้าสู่อาการของ โรคตับแข็ง ( Liver cirrhosis ) ซึ่งภาวะนี้จะไม่สามารถกลับสู่ปกติ  นอกจากนั้นผู้ที่ดื่มสุราอย่างมากก็เกิดไขมันพอกตับแบบเฉียบพลันได้
ไขมันพอกตับของคนที่ไม่ได้ดื่มสุรา
                ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride (ไขมันในเลือด)อยู่ในเซลล์ตับโดยที่คนๆนั้นไม่ได้ดื่มสุรา (ปกติคนที่ดื่มสุรามานานจะมีการพอกของเซลล์ไขมันในตับ) ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับ เกิดกลุ่มอาการที่ เรียกว่า Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH)ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง ( Cirrhosis )แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็น ตับอักเสบและตับแข็ง


ภาวะไขมันพอกตับ อาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด โดยแบ่งตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ดังนี้
ชนิดที่ 1 ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบของตับ ร่วมด้วย
ชนิดที่ 2 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ ร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย
ชนิดที่ 3 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ และมีการบวมโตของเซลล์ตับ
ชนิดที่ 4 จะเป็นแบบชนิดที่ 3 แต่มีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจมีพังผืดในตับร่วมด้วย
ชนิดที่ 1 และ 2 ถือว่าอาการปกติ  แม้ว่าจะเป็นในระยะเวลา 10-20 ปี ก็ยังปกติดี ไม่มีอาการของโรคตับเรื้อรังเกิดขึ้น แต่ไขมันคั่งสะสมในตับชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้ถึงร้อยละ 20-28 ในระยะเวลา 10 ปี  ดังนั้น แม้ว่าโดยรวมดูเหมือนว่าภาวะไขมันพอกตับจะเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยที่เป็นชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งและอาจเสียชีวิตได้   ไม่ต่างจากโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง                                                                                               
สาเหตุของการเกิดโรคแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1. จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver)ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับทั้งปริมาณแอลกอฮอล์ ประเภท และระยะเวลาที่ดื่ม
2. ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ( Non alcoholic fatty liver )ในกลุ่มนี้มีปัจจัยเสี่ยงจาก
2.1 มีโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน (Metabolism) ของร่างกายที่เรียกว่า Metabolic syndrome เช่น โรคอ้วน , โรคเบาหวาน  , โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
2.2 ภาวะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือภาวะทุพโภชนาการ เช่น มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือจากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดต่อเนื่อง
2.3 เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง , ยาปฏิชีวนะบางชนิด , ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ , ยาต้านไวรัสบางชนิด , ยาต้านฮอร์โมนบางชนิดในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในปริมาณสูงต่อเนื่อง
2.4 ได้รับสารพิษบางชนิด เช่น จากการบริโภคเห็ดมีพิษ หรือยาฆ่าแมลง
2.5 การติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อเอชไอวี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี
2.6 กินอาหารให้พลังงานสูงเป็นประจำ รวมทั้งไขมัน โปรตีน และ คาร์โบไฮ เดรต
2.7 การลดน้ำหนักอย่างหักโหม
2.8 การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery)
2.9 อาจจากพันธุกรรม
กลไกการเกิดโรคไขมันพอกตับ
กลไกการเกิดโรคไขมันพอกตับ อาจเกิดจากความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย ส่งผลให้มีปริมาณไขมันในร่างกายสูง เช่น จากอาหาร จากร่างกายสร้างไขมันมากขึ้น หรือร่างกายนำไขมันไปใช้ได้น้อยลง จึงส่งผลให้มีไขมันสะสมในตับสูงขึ้น หรือมีความผิดปกติอื่นๆที่ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันไปสะสมที่ตับสูงขึ้น หรือมีการผิดปกติในการสันดาปอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) จากฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จากตับอ่อน ส่งผลให้ร่างกายนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ไม่หมด คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินเหล่านี้จึงเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ Triglyceride (ไขมันในเลือด)ซึ่งร่างกายนำไปเก็บสะสมไว้ในตับ ทั้งนี้เพราะพบโรคนี้ได้สูงในผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย

อาการของไขมันพอกตับ
       ลักษณะอาการของไขมันพอกตับทั้งแบบ NAFLD และ NASH จะมีลักษณะเดียวกัน คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรืออาจจะมีอาการปวดแน่นชายโครงข้างขวาแบบค่อยเป็นค่อยไป และนอกจากนั้นอาจตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน อ้วน ไขมันในเลือดสูง
การวินิจฉัยโรค
        โรคไขมันพอกตับนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่แสดงออกอย่างชัดเจน ดังนั้นการวินิจฉัยที่จะทำให้แพทย์สามารถทราบผลได้อย่างแน่ชัด แพทย์จึงต้องเริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติ เพื่อให้ทราบข้อมูลของคนไข้ว่ามีประวัติดื่มสุรา, รับประทานยาชนิดใด และมีประวัติติดเชื้อไวรัสบี ซี และตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ การเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ ระดับน้ำตาลและเพื่อดูว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลิน , ระดับไขมันในเลือดว่าสูงกว่าปกติ , การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน การตรวจซีทีสแกน ( CT Scan )และการเจาะชิ้นเนื้อที่ตับเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
วิธีการรักษา
·          การรักษาโรคอ้วน โดยการลดน้ำหนักตัว ซึ่งจะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับในผู้ป่วย NAFLD ดีขึ้น และสำหรับคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูง พบว่ามีโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้ถึงร้อยละ 90
·          ออกกำลังกาย แบบแอโรบิคและยืดเหยียดอย่างสม่ำเสมอ 30-45 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
·           การควบคุมอาหาร ลดการรับประทานเนื้อแดงจากสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรุคโตสในปริมาณสูง งดดื่มน้ำอัดลม , แอลกอฮอล์ และน้ำผลไม้ปรุงแต่ง บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลิตภัณฑ์จากนม ผักเกือบทุกชนิด และบริโภคโปรตีนจากปลาทะเล
·       การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ศัลยกรรมโรคอ้วนสามารถทำให้ผู้ป่วยร้อยละ 92 มีไขมันสะสมภายในตับลดลง ผู้ป่วยร้อยละ 81 มี steatohepatitisดีขึ้น และผู้ป่วยร้อยละ 66 มีการลดลงของพังผืดที่สะสมภายในตับ เหมาะสมกับผู้ป่วย NAFLD ที่มีโรคอ้วนระดับรุนแรง และไม่เหมาะกับผู้ป่วย NAFLD ที่เกิดตับแข็ง
·          การรับประทานยา ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการของโรคที่มีการแทรกซ้อนจากไขมันพอกตับ เช่น ให้ยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน , ภาวะไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง


การใช้ยารักษา
จนถึงปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาได้ผลดีจริงเท่าที่มีการทดลองและพอจะได้ผลดี ได้แก่
·       ยาที่เพิ่มความไวต่ออินซูลิน Insulin-sensitizing agents, เช่น pioglitazone และ rosiglitazone (Avandia), และ metformin (Glucophage)
·       Anti-TNFa agents เช่น infliximab (Remicade)
·       ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เช่น pentoxifylline (Trental)
·       ยาต้านอนุมูลอิสระ, เช่น vitamin E, betaine, and s-adenosylmethionine (SAMe)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น