MICROCONTROLLER

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคดีซ่าน

โรคดีซ่าน

(รูปที่ 1ดีซ่าน ,http://healthmeplease.com)
                โรคดีซ่านคือ  โรคที่ทำให้เยื่อตาและตัวเหลือง  ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว  ดีซ่านไม่ใช่โรค  แต่เป็นอาการหนึ่งของโรคต่างๆ  ที่ทำให้เลือดมีสารสีเหลืองหรือสารบิลิรูบิน  (Bilirubin)  สูงกว่าปกติ  สารสีเหลืองเหล่านี้จึงจับในเนื้อเยื่อต่างๆที่ผิวหนังและในเนื้อเยื่อตา  ส่งผลให้เป็นสีเหลือง
                ส่วนสารให้สีเหลืองในพืชผักและผลไม้คือ  สารแคโรทีน(Carotene)  มีมากในผักผลไม้สีเหลือง  แดง  และแสด  เช่น  แครอท  ฟักทอง  มะเขือเทศ  ส้ม  มะม่วงสุก  และมะละกอสุก  เมื่อกินปริมาณสูงต่อเนื่องจะมีผลให้ตัวเหลืองได้  (เกิดเฉพาะผิวหนัง  เพราะสารจะจับเฉพาะผิวหนัง)  แต่จะไม่ทำให้ตาหรือเนื้อเยื่ออื่นๆเหลือง  จึงไม่เรียกว่าโรคภาวะดีซ่าน
                สารบิลิรูบินในเลือดเป็นสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง  โดยปกติเมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุงาน  (เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ  120  วัน)  จะถูกทำลายที่ตับ  ส่วนหนึ่งของสารบิลิรูบินจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายจะถูกสร้างเป็นน้ำดี  และอีกส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยถูกดูดซึมกลับเข้ากระแสเลือด  แต่ในโรคที่เป็นสาเหตุของดีซ่านจะมีสารบิลิรูบินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติมาก  จนก่ออาการดีซ่าน
                สาเหตุการคั่งของสารบิลิรูบินในเลือดมีได้  3  สาเหตุหลัก  ได้แก่  สาเหตุจากโรคบางชนิดทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายสูงขึ้น  (โดยเม็ดเลือดแดงถูกทำลายในกระแสเลือดโดยตรง  ไม่ผ่านตับ)  สาเหตุจากโรคตับ  และสาเหตุจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี
                สาเหตุอาการดีซ่านจากโรคบางชนิดที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงในเลือดโดยตรง  ไม่ผ่านตับ ได้แก่  โรคมาลาเรีย  โรคเลือดบางชนิด  (เช่น  โรคทาลัสซีเมีย)  และโรคฉี่หนู  ดังนั้นเมื่อมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น  สารบิลิรูบินในเลือดจึงสูงขึ้น  ก่ออาการดีซ่าน  ซึ่งอาการดีซ่านจากสาเหตุนี้   ปัสสาวะอาจมีสีเข้มจากสารบิลิรูบินที่กรองออกทางไต  หรืออาจมีสีปกติ  ถ้าทำลายเม็ดเลือดแดงไม่มาก  แต่อุจจาระจะมีสีปกติ  เพราะน้ำดียังไหลลงลำไส้ได้ตามปกติ
                สาเหตุของอาการดีซ่านจากโรคตับเกิดจากตับอักเสบจากสาเหตุต่างๆที่พบได้บ่อย  เช่น  โรคไวรัสตับอักเสบ  ทำให้ตับไม่สามารถกำจัดสารบิลิรูบินได้ตามปกติ  สารนี้จึงเข้าสู่กระแสเลือด  ก่ออาการดีซ่าน  ซึ่งอาการดีซ่านจากสาเหตุนี้  ปัสสาวะจะมีสีเหลืองเข้มจากปริมาณสารบิลิรูบินที่กรองออกทางไต  ส่วนอุจจาระอาจมีสีปกติหรือสีซีด  (แต่ไม่มาก)  เพราะน้ำดียังไหลลงสู่ลำไส้ได้
                สาเหตุของอาการดีซ่านจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี  โดยเฉพาะท่อน้ำดีนอกตับ  ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งตับชนิดซีซีเอ  โรคนิ่วในท่อน้ำดี  โรคมะเร็งท่อน้ำดีรวม  โรคตับอ่อนอักเสบ  หรือโรคมะเร็งตับอ่อน  ดังนั้นน้ำดีจึงไหลลงสู่ลำไส้ไม่ได้  และจากการท้นของสารบิลิรูบินเข้ากระแสเลือด  อาการดีซ่านจากสาเหตุนี้จึงมีผลให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม  ส่วนอุจจาระจะมีสีซีดผิดปกติมาก

อาการ
                นอกจากตาเหลืองตัวเหลืองแล้ว  อาการต่างๆจะขึ้นกับสาเหตุที่เกิด  เช่น  สาเหตุของดีซ่านเกิดจากโรคตับอักเสบ  ก็จะมีอาการโรคตับอักเสบด้วย  นอกจากนั้นคืออาการคันตามตัวจากการระคายต่อผิวหนังของสารบิลิรูบิน

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้จากประวัติการเจ็บป่วย  อาการของผู้ป่วย  สีผิวหนังและเยื่อตา  สีของปัสสาวะและอุจจาระ  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดดูค่าสารบิลิรูบิน  และดูการทำงานของตับ  การตรวจปัสสาวะ  การตรวจหาเชื้อต่างๆ  เมื่อสงสัยว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อ  การตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานเมื่อสงสัยสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ  การตรวจไขกระดูกเมื่อสงสัยเป็นโรคเลือด  การตรวจภาพตับ  ท่อน้ำดี  ถุงน้ำดี  และตับอ่อน  ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์  หรือด้วยวิธีเฉพาะต่างๆเพิ่มเติม  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษา
                แพทย์จะให้การรักษาภาวะดีซ่านตามสาเหตุ  เช่น  การรักษาโรคตับอักเสบ  การผ่าตัดรักษานิ่ว  หรือการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุ  นอกจากนั้นจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ  โดยเฉพาะอาการคัน
                ถ้าภาวะดีซ่านเกิดจากการอุดตันของทางเดินน้ำดี  การรักษาคือการผ่าตัดหรือเจาะใส่ท่อ  เพื่อให้น้ำดีที่คั่งในตับหรือท่อน้ำดีไหลระบายออกนอกตับ  (ในบางสาเหตุอาจใช้การใส่ท่อขยายท่อน้ำดีแทนการผ่าตัด)

ผลข้างเคียงและความรุนแรง
                ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ  อาการคันจากการคั่งของสารสีเหลืองหรือสารบิลิรูบินในเลือด  และการเสียภาพลักษณ์จากการตัวเหลืองตาเหลือง
                ในเรื่องความรุนแรงของโรคดีซ่าน  ดังกล่าวแล้วว่า  ดีซ่านเป็นเพียงอาการของโรค  แต่ไม่ใช่เป็นโรค  ดังนั้นความรุนแรงของโรคดีซ่านจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุ  เช่น  ถ้าเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไวรัสตับอักเสบเอ  ความรุนแรงโรคจะต่ำ  แต่ถ้าเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบบี  ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น  และความรุนแรงโรคจะสูงสุดเมื่อโรคหรือภาวะดีซ่านเกิดจากโรคมะเร็ง
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
                การดูแลตนเองและการพบแพทย์ที่สำคัญ  ได้แก่
·       ดูแลตนเองตามโรคที่เป็นสาเหตุตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ  กินยาต่างๆให้ถูกต้อง  ครบถ้วน  อย่าซื้อยากินเอง  ควรปรึกษาแพทย์  พยาบาล  หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
·       พักผ่อนให้เพียงพอ  กินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง  5  หมู่  บางครั้งอาจต้องจำกัดอาหารประเภทต่างๆ  เช่น  ไขมัน  โปรตีน  เกลือ  ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค  โดยควรปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
·       ดื่มน้ำให้เพียงพอ  อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ  (ปากแห้ง  คอแห้ง  น้ำลายเหนียว  กระหายน้ำ  ปัสสาวะน้อย  อาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ  ขอบตาคล้ำ)
·       งดเหล้า  บุหรี่
·       การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคันจากสาเหตุการคั่งของสารบิลิรูบินในเลือด  ที่สำคัญได้แก่
-                   กินยาหรือทายาบรรเทาอาการตามแพทย์  พยาบาล  หรือ  เภสัชกรแนะนำ
-                   ดื่มน้ำมากๆ  เมื่อไม่มีข้อห้ามจำกัดน้ำจากโรคอื่นๆ  เพราะเมื่อผิวหนังชุ่มชื้น  อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
-                   ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด  เพราะทำให้ผิวแห้ง  เพิ่มอาการคัน  เลือกใช้สบู่ที่ไม่ใส่น้ำหอม  และควรเป็นสบู่อ่อนหรือสบู่เด็กอ่อน
-                   ใช้โลชั่นหรือครีมสำหรับผิวแห้งหลังอาบน้ำเสมอ
-                   ใส่เสื้อผ้าหลวมๆสบายๆ  เลือกชนิดผ้าที่ไม่เพิ่มอาการคัน  (ผ้าฝ้าย  100%)  และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี  ไม่ออกแดดโดยไม่จำเป็น  เพราะการมีเหงื่อออกมากจะเพิ่มอาการคันได้
-                   ตัดเล็บให้สั้น  รักษาความสะอาดเล็บเพื่อลดโอกาสเกิดแผลติดเชื้อจากการเกา  อย่าเกาแรงๆ  แต่ให้ลูบหรือตบเบาๆ  บริเวณที่คันแทน  หรือถ้าคันมากอาจวางกระเป๋าน้ำแข็งประคบ  เพราะมีรายงานว่าช่วยลดอาการคันได้
-                   ควรพบแพทย์ถ้าคันจนนอนไม่หลับ  อาการคันมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  คันมากหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น  เกิดแผลติดเชื้อจากการเกา  แล้วแผลไม่ดีขึ้นหรือลุกลามหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว
-                   รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อน
-                   พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม  หรือเมื่ออาการต่างๆแย่ลง  ควรรีบไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

การป้องกัน
                การป้องกันโรคดีซ่านคือป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุ  สำหรับบางโรคป้องกันได้  การป้องกันที่ดีที่สุดคือ
o   การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อลดโอกาสการเกิดตับอักเสบจากการติดเชื้อ
o   งดสุราเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคตับแข็ง
o   ระมัดระวังการกินยาและสมุนไพร

o   เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆควรรีบพบแพทย์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น