MICROCONTROLLER

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย


                   





  

               โรคฝีตับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฝีตับที่พบบ่อยได้แก่  อี.  โคไล
(E. Coli)  เครบเซลลา (Klebsiella)  สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus)
  แบคทีเรียกลุ่ม  แอนแอโรบส์(Anaerobes)  เอนเทอโรค็อกไค  (Enterococci)  และ สแตฟิโลค็อกคัส  (Staphylococcus)ทั้งนี้จะเป็นเชื้อชนิดใดขึ้นกับแหล่งของเชื้อ  เช่น  เป็นการติดเชื้อลุกลามจากถุงน้ำดีหรือทางเดินน้ำดี  ไส้ติ่งอักเสบแล้วแตกเข้าช่องท้อง  โรคมะเร็งตับ  การผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับตับถุงน้ำดี  หรือทางเดินน้ำดีจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับตับ (เช่น  ถูกยิงหรือถูกแทง)  รวมถึงยังขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ  เพราะแต่ละประเทศมีความชุกของแบคทีเรียแต่ละชนิดแตกต่างกัน
               โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียเกิดได้ทุกส่วนของตับ  และอาจเกิดพร้อมกันหลายจุดทั่วตับ  โดยพบว่าเกิดในตับกลีบขวาประมาณร้อยละ  65 – 70  กลีบซ้ายประมาณร้อยละ  25 – 30  และเกิดพร้อมกันทั้งสองกลีบประมาณร้อยละ  5

ปัจจัยเสี่ยง
                ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย  ได้แก่
·       ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องหรือต่ำจากสาเหตุต่างๆ
·       ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
·       ผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ป่วยติดสุรา
·       ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต  จากการอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆทั้งในและนอกช่องท้อง
·       ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในอวัยวะต่างๆในช่องท้อง
·       ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดโรคตับ  ถุงน้ำดี  หรือท่อน้ำดี

อาการ
                อาการของโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียจะเหมือนกับการติดเชื้อของอวัยวะอื่นๆทั่วไป  แต่มีอาการเกี่ยวกับตับร่วมด้วย  ที่พบบ่อยได้แก่
·       มีไข้สูง  หนาวสั่น  อาจถึงช็อกได้
·       อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  คลื่นไส้อาเจียน  น้ำหนักลด
·       ท้องเสีย
·       ดีซ่าน  (ตาและตัวเหลือง)
·       เจ็บหรือปวดท้องบริเวณตำแหน่งของตับ  (ช่องท้องด้านขวาตอนบน)  และตับคลำได้  (ตับปกติจะคลำไม่เจอ)

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย  ถิ่นที่อยู่อาศัย  ประวัติการเป็นโรคหรือการประสบอุบัติเหตุ  การผ่าตัด  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดซีบีซี                  (CBC)  เพื่อดูภาวการณ์ติดเชื้อ  การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ  การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  การเพาะเชื้อจากเลือด  การตรวจหาเชื้อหรือชนิดแบคทีเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์จากหนองในตับ  และจากการเพาะเชื้อจากหนองในตับ
แนวทางการรักษา
                การรักษา  ได้แก่  การให้ยาปฏิชีวนะ  โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะเฉพาะแบคทีเรียนั้นๆ  การเจาะหรือดูดหนองออก  และ/หรือการผ่าตัดใส่ท่อขนาดใหญ่เพื่อระบายหนองเมื่อการดูดหรือเจาะไม่ได้ผล  และการรักษาประคับประคองตามอาการ  เช่น  การให้ยาลดไข้  ยาบรรเทาอาการปวด  การให้น้ำเกลือหรืออาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย

ความรุนแรงของโรค
                โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรง  เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ  5-30  แต่เป็นโรคที่รักษาหายได้ภายในระยะเวลา 4-12 สัปดาห์  และเมื่อหายแล้ว  ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับ
                ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง  ได้แก่
·       ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องหรือต่ำจากทุกสาเหตุ
·       สุขภาพไม่แข็งแรง  ขาดอาหาร  เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ  รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง
·       เป็นเบาหวานหรือโรคตับแข็ง
·       ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์
·       เป็นโรคที่ต้องใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
·       เกิดฝีหลายแห่งในตับ
·       เกิดผลข้างเคียงจากฝีตับ
·       ได้รับการรักษาล่าช้า
·       ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ

การดูแลตนเองและการพบแพทย์
·       ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ  โดยเฉพาะเรื่องการกินยาปฏิชีวนะ  ต้องให้ครบถ้วนและถูกต้อง  อย่าหยุดยาเองหรือขาดยา
·       รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
·       พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือมีอาการเลวลงโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด


การป้องกัน
                การป้องกันที่สำคัญ  ได้แก่
·       รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง  ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
·       หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้ว
·       รับพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น