MICROCONTROLLER

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตับ (Liver)

ตับ (Liver)
ตับมีหน้าที่ซึ่งต้องกระทำในบทบาทต่างๆ ให้แก่ร่างกาย ว่ากันว่ามีมากกว่า 500 หน้าที่ หากมีเหตุหรือจุลชีพก่อโรคใดๆ มาก่อให้เกิดอุปสรรคหรือพยาธิสภาพทำให้ตับเกิดความขัดข้องไม่อาจทำหน้าที่ได้แม้เพียง 1 อย่างใน 500 กว่าอย่างเหล่านั้น อุบัติการณ์เช่นนั้น  ก็ต้องถือว่าเป็นโรคตับที่ทำให้อาจนับจำนวนได้ว่ามีอีก 1 โรค
ฉะนั้น  โรคตับ  จึงอาจมีได้มากกว่า 500 โรค
                พยาธิสภาพของตับที่จะนำเสนอ โดยมีมุมมองมาจากสภาวะความเสียหายของตับ  หรือมีผลให้ตับทำหน้าที่เต็มที่ไม่ได้  โดยทั่วไปมีดังนี้
1.             กลุ่มโรคตับจากเหตุที่เซลล์ตับเสียหาย
2.             กลุ่มโรคตับที่แบ่งตามความร้ายแรง
3.             โรคไขมันพอกตับ 
4.             โรคตับอักเสบ 
5.             โรคตับแข็ง
6.             โรคมะเร็งตับ
7.             โรคตับวาย 
8.             โรคอื่นๆที่เกิดกับตับ
กลุ่มโรคตับซึ่งเกิดจากแหล่งที่ชำรุดเสียหายภายในตับ
กลุ่มโรคตับอันเกิดจากตับถูกโจมตี  ทำลาย  (ด้วยสารพิษ  ยา  แอลกอฮอล์  ไวรัส  ฯลฯ)  จนตัวตับเองเสียหาย  ทำให้อาจเกิดโรคจากความเสียหาย  ซึ่งแบ่งกว้างๆได้เป็น  2  กลุ่มโรค  คือ
ก.       โรคจากเนื้อเซลล์ตับเสียหาย  (liver  cell  damage) 
1.             ส่งผลให้ตับทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีน  (เช่น  อัลบูมิน  สารห้ามเลือด ฯลฯ)  และสารอื่นๆ  ไม่ได้
2.             ตับไม่อาจกำจัดสารพิษใดๆ ออกจากร่างกายได้


ข.      โรคจากเหตุช่องทางท่อน้ำดีถูกอุดตัน(obstruction  to  the  bile  flow)
1.        ส่งผลให้ตับไม่อาจปลดปล่อยน้ำดีและสารพิษใดๆ  ออกทิ้งผ่านกากอาหารได้
2.        เมื่อน้ำดีไม่อาจผ่านท่อน้ำดีไปช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็กได้  ก็ย่อมมีผลทำให้ร่างกาย ไม่อาจดูดซึมไขมัน  และวิตามินต่างๆ ชนิดที่ละลายในไขมันมาให้ร่างกายใช้งานได้
เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตับว่า  มันเป็นอวัยวะที่ร่างกายจะขาดเสียมิได้เลย  ตับจึงมีคุณสมบัติพิเศษโดดเด่นยิ่งกว่าอวัยวะอื่นใน  2  ประการ  กล่าวคือ
                คุณลักษณะแรกของตับ  ตับนับเป็นอวัยวะที่มีความอดทน  กล่าวคือ  มีความสามารถสำรองประสิทธิภาพในการทำหน้าที่  (reserve)  โดยเนื้อตับแม้จะถูกตัดเฉือนแยกทิ้งออกไปประมาณ  70 %  หรือตัดทิ้งออกไป  จนอาจเหลือเพียง  30 %  (แต่ต้องแน่ใจว่า  เหลือเฉพาะเซลล์ตับที่ดีอยู่  แปลว่า  ไม่มีโรคใดๆ) ส่วนที่เหลือนี้ มันก็ยังอุตส่าห์ทำหน้าที่ให้กับร่างกายได้อย่างเป็นปกติครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ
โดยข้อมูลความรู้นี้  จึงได้ก่อให้เกิดกระบวนการต่อเนื่องที่สำคัญ  2  ประการคือ
1.             หากมีเนื้อร้ายใดๆ  ที่เซลล์ตับ  เช่น  โรคมะเร็ง  หรือเนื้อตับตายเป็นบางส่วน  หรือเกิดมีพังผืดจนเซลล์ตับทำงานไม่ได้  หากตรวจพบได้ก่อนว่ามันยังมิได้มีการกระจายตัวออกไปทั่งทั้งตับ  ในการนี้แพทย์ท่านก็ย่อมจะสามารถผ่าตัด  เฉือนเอาเนื้อร้ายนั้นๆออกทิ้งไป  โดยเจ้าของร่างกายไม่สมควรจะประหวั่นพรั่นพรึงตกใจว่าจะพิกลพิการ  เนื่องจากว่า  ตับส่วนที่เหลือมันก็ยังอาจช่วยทำหน้าที่ให้กับท่านเจ้าของร่างกายได้ต่อไป
2.             ทำให้เกิดมีการบริจาคตับ  (หรืออาจมีการซื้อขายในบางประเทศ)  โดยในกรณีของพี่น้อง  หรือบุตร  หรือบุคคลทั่วไปย่อมอาจบริจาคตับที่ดีส่วนหนึ่งของตนเองให้กับญาติ  (หรือแม้แต่ผู้อื่น)  ซึ่งมีโรคตับที่เกิดความเสียหายจนใช้การไม่ได้เลย  ทั้งนี้  โดยมีเงื่อนไขว่า  ร่างกายของผู้รับบริจาคตับนั้นจะต้องไม่ปฏิเสธอวัยวะ  (ตับ)  ที่มาปลูกถ่ายให้กับตนมากเกินไปนัก
คุณลักษณะที่สองของตับ  ตับนับเป็นอวัยวะพิเศษเพียงอย่างเดียวเท่านั้นของร่างกาย  ที่มันสามารถจะงอกหรือเพิ่มขนาดเติบโต  (regenerate)  ขึ้นทดแทนส่วนที่มันจำเป็นต้องถูกตัดเฉือนทิ้งออกไปได้  โดยส่วนที่เหลือนั้นมันก็สามารถค่อยๆ  กลับเจริญงอกออกมาใหญ่โตจนอาจมีสัดส่วนเท่าขนาดเดิมได้  ว่ากันว่าภายในระยะเวลาไม่นานเพียง 2 – 3 สัปดาห์

กลุ่มโรคตับที่แบ่งตามความร้ายแรง
                ในจำนวนโรคตับซึ่งมีอาการนับได้เป็นร้อยโรคนั้น  หากจะมีการแบ่งชนิดตามความร้ายแรงของโรค  ก็อาจแบ่งออกได้เป็น  2  ชนิด  ตามความร้ายแรง  คือ  1)  โรคตับชนิดเฉียบพลัน (acute liver disease)  และ 2)โรคตับชนิดเรื้อรัง (chronic liver disease)
                ความแตกต่างระหว่างโรคตับชนิดเฉียบพลัน  และโรคตับชนิดเรื้อรังนั้นอาจพิจารณาได้จากช่วงระยะเวลาของอาการปรากฏโรค  และสาเหตุจองการเกิดโรคดังนี้
                 1. โรคตับชนิดเฉียบพลัน  มักเริ่มต้นมาจาก  โรคตับอักเสบเฉียบพลัน (acute hepatitis)   โดยพิจารณาจากมิติของช่วงระยะเวลาเปลี่ยนแปลง  ที่อาจหายหรือไม่หาย  แต่กลายเป็นชนิดเรื้อรัง  หรือทรุดลงหนักและอาจกลายเป็นโรคตับวายโดยประมาณไม่เกินกว่า  6  เดือน
โรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน  (acute liver disease) นั้น  อาจเกิดได้จากสาเหตุมากมาย  แต่เฉพาะสาเหตุสำคัญที่รู้จักกันแพร่หลายโดยทั่วไปนั้น  มักเกิดจากสภาวะหรือโรคอื่นขึ้นก่อนดังนี้
ก.      โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อของไวรัสชนิดต่างๆ  คือ
1)            Hepatitis  A                 (ไวรัสตับอักเสบ  A )
2)            Hepatitis  B                  (ไวรัสตับอักเสบ  B )
3)            Hepatitis  C                  (ไวรัสตับอักเสบ  C )
4)            Hepatitis  D                 (ไวรัสตับอักเสบ  D )
5)            Hepatitis  E                  (ไวรัสตับอักเสบ  E )
6)            Hepatitis  F                  (ไวรัสตับอักเสบ  F )
7)            Hepatitis  G                 (ไวรัสตับอักเสบ  G )
ข.      โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อของไวรัสชนิดอื่นบางชนิด เช่น
Mononucleosis  (ไวรัสโรคจูบปาก)
Cytomegalovirus (ไวรัสที่มีขนาดโตกว่าชนิดอื่นและมักเกิดกับเด็ก)
ค.      โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อของแบคทีเรียบางชนิด  เช่น  Coliform, Salmmonellaฯลฯ
ง.       โรคตับอักเสบจากการติดเชื้ออันเป็นพิษจากพยาธิบางชนิด  (Amoebic  infections)
จ.       สภาวะตับอักเสบจากพิษของยารักษาโรคบางตัว  เช่น  พาราเซตามอล
ฉ.      สภาวะตับอักเสบจากพิษจองอาหารบางชนิด  เช่น  เห็ดมีพิษ  ปลาปักเปา ฯลฯ
ช.      สภาวะตับอักเสบจากพิษของสารพิษโดยตรง  เช่น  ยาฆ่าแมลง  ยาเบื่อหนู  ฯลฯ
ซ.      สภาวะตับอักเสบจากพิษของแอลกอฮอล์  ในกรณีดื่มจนค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด  (BAC)  สูงเกินกว่า  0.4 %
  2.โรคตับชนิดเรื้อรังมักเริ่มต้นมาจากโรคตับอักเสบด้วยสาเหตุใดๆ  ก็ตามซึ่งอาจไม่แสดงอาการใดๆ  ให้ปรากฏ  หรือแสดงอาการซึ่งไม่ร้ายแรงมากนัก  แต่หากอาการนั้นๆ  มีความต่อเนื่องเนิ่นนานเป็นระยะเวลาเกินกว่า  เดือน
โรคตับชนิดเรื้อรัง  (chronic liver disease)  อาจมีสาเหตุจากสภาวะผิดปกติหรือโรคที่มีขอบเขตกว้างมาก  แต่อย่างไรก็ตามหากจำแนกตามประเภทของสาเหตุแล้ว  อาจสรุปได้  ดีงนี้
ก.       สาเหตุจากไวรัส  โดยชนิดของไวรัสที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ตับถึงขั้นเรื้อรังได้ ก็คือ
1)            ไวรัสตับอักเสบ B
2)            ไวรัสตับอักเสบ C
3)            ไซโตเมกาโลไวรัส  (Cytomegalovirus)
4)            เอพสไตน์  บาร์  ไวรัส  (Epstein  Barr  Virus)  ซึ่งรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า  “Human Herpes  Virus”  โดยไวรัสชนิดนี้  หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม  อาจถึงขั้นนำไปสู่โรคตับวาย  (liver  failure)
ข.      สาเหตุจากสารพิษ  โดยธรรมดาพิษจากอาหารหรือสารเคมีที่เป็นพิษใดๆ  ย่อมอาจสร้างความเสียหายให้แก่ตับได้ในระดับเป็นครั้งคราวจนถึงขั้นอาจเกิดอาการในลักษณะเฉียบพลัน  แต่ในกรณีของสารพิษที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ตับได้อย่างยืดเยื้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง  คือ  แอลกอฮอล์  เนื่องจากผู้ดื่มมิได้ตระหนักรู้  จนกว่าจะได้ปรากฏอาการของโรคตับเรื้อรัง  เช่น  โรคไขมันพอกตับ  หรือโรคตับแข็ง  หรือโรคตับวายจึงจะเกิดความเดือดร้อนจากอาการของโรค
ค.      สาเหตุจากยารักษาโรค  โดยปกติยารักษาโรคไม่ว่าชนิดใด  ก็ย่อมสร้างพิษให้แก่เซลล์ตับอยู่แล้ว  ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะปัจจัยเสี่ยงในอันที่จะก่อความเสียหายมาก/น้อยให้แก่ตับ  ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ  เหล่านี้คือ 


1) ความร้ายแรงอันเป็นพิษจากสารเคมีในตัวยา 
2)ขนาดของยา  (dose)  ที่ใช้ต่อครั้งหรือต่อวัน 
3)ช่วงระยะเวลาหรือความยาวของระยะเวลาที่ต่อเนื่องตลอดมาของการใช้ยา  (เป็นวัน  เดือน  หรือปี)
เฉพาะชื่อยาสามัญ  (generic  name)  หรือ  ชื่อกลุ่มยา  ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ตับชนิดเรื้อรัง  เท่าที่ทางการแพทย์ท่านทราบกันมานานแล้วในปัจจุบันนี้คือ
1.             กลุ่มยา  Aminodaroneซึ่งใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
2.             กลุ่มยา  Nitrofurantoinเป็นยาปฏิชีวนะ  มักใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะซึ่งติดเชื้อ
3.             กลุ่มยา  Methotrexate  เป็นยารักษาโรคมะเร็ง  มักใช้กับ  มะเร็งเต้านม  มะเร็งผิวหนัง  มะเร็งปอด ฯลฯ
โปรดสังเกตว่า  กลุ่มยาทั้งในข้อ  1)  และ  3)  นั้น  อาจทำให้ตับอักเสบขึ้นได้ก่อน  แล้วยังอาจมีผลต่อเนื่องจนสามารถทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง  (แปลว่า  อาจรักษาไม่หายจนเรื้อรังเนิ่นนานเกินกว่า  เดือน)  ได้อีกด้วย
ง.       สาเหตุจากโรคไชมันพอกตับ  ชนิดมิใช่มีเหตุจากแอลกอฮอล์  (non–alcoholic  fatty  liver  disease , NAFLD)
โดยธรรมดาโรคไขมันพอกตับ  หรือโรคไขมันแทรกในเซลล์ตับ  (fatty  liver  disease)คือโรคที่เกิดจากการอักเสบเนื่องจากไขมันที่เข้าไปแทรกตัวอยู่ในเซลล์ตับและในระหว่างเซลล์ตับ  จนทำให้ตับอักเสบและทำหน้าที่ของตนไม่ได้เต็มที่
แต่โดยที่ตับเป็นอวัยวะซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่อาจสำรองความสามารถของตนเองได้สูงมาก  ฉะนั้นแม้เซลล์ตับจะเสียหายจนทำหน้าที่ไม่ได้ถึง 70 % ก็ตาม  ในการนี้ตัวเจ้าของร่างกายก็อาจจะยังไม่รู้สึกตัวหรืออาจจะยังสังเกตไม่พบก็ได้


โรคไขมันพอกตับ  มักเกิดจากสาเหตุสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งใน  2  ประการ  คือ
1.             จากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องตลอดมาเกินกว่าวันละ  20  กรัม (เทียบเท่าวิสกี้ผสมโซดา  ประมาณวันละ  2  ดริ๊งค์  หรือประมาณ  2  แก้ว)  เรียกว่า  โรคไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์  (alcohol  fatty  liver  disease, AFLD)
2.             จากสภาวะการเผาผลาญอาหารเกิดขึ้นอย่างผิดปกติของร่างกาย  (metabolic  syndrome)  โดยไร้แอลกอฮอล์  ก็อาจก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้เหมือนกัน  แต่มีชื่อเฉพาะเรียกโรคนี้ว่า  โรคไขมันพอกตับชนิดมิใช่เหตุจากแอลกอฮอล์   (non–alcoholic  fatty  liver  disease , NAFLD)
อย่างไรก็ตาม  โรคไขมันพอกตับที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดมีอาการปรากฏให้เห็นหรือไม่  ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงที่นำไปสู่โรคตับเรื้อรังได้เสมอ


(จากหนังสือตรวจเลือดไวรัสลงตับ,พลเอก ประสาร  เปรมะสกุล,)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น