MICROCONTROLLER

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคท้องมา

โรคท้องมาน

(รูปที่ 1ท้องมาน ,http://thedoctorstory.blogspot.com)
               เป็นภาวะที่มีน้ำเกิดในช่องท้องปริมาณมากผิดปกติ  เป็นสาเหตุให้ท้องบวมใหญ่  นอกจากนั้นอาจบวมตาม  แขน  ขา  มือ  เท้า  ใบหน้า  หรือรอบดวงตาร่วมด้วย
                การมีน้ำในช่องท้องปริมาณมากจะดันกะบังลมและดันปอดทั้งสองข้างให้แฟบลง  ปอดจึงทำงานได้น้อยลง  ก่ออาการแน่นอึดอัด  นอนราบไม่ได้เพราะจะหอบเหนื่อย  นอกจากนั้นน้ำในช่องท้องยังกดและเบียดดันกระเพาะอาหารและล้ำไส้  ทำให้กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อย  แน่นอึดอัดท้องอาหารไม่ย่อย  ผู้ป่วยจึงผ่ายผอม  แต่น้ำหนักตัวไม่ลดลงมากเนื่องจากน้ำหนักของปริมาณน้ำสะสมในช่องท้อง
                น้ำที่เกิดในช่องท้องในภาวะท้องมานมี  2  ลักษณะ  ได้แก่  ลักษณะเป็นน้ำใส  ไม่ค่อยมีเซลล์เจือปน  ทางการแพทย์เรียกว่า  สิ่งซึมเยิ้มใส  (Transudate)  และลักษณะเป็นน้ำข้นกว่าชนิดแรก  มีเซลล์เจือปนมากกว่าซึ่งอาจเป็นเซลล์จากการอักเสบหรือจากเซลล์มะเร็ง  หรืออาจมีเลือดปน  ทางการแพทย์เรียกว่า  สิ่งซึมเยิ้มข้น  (Exudate)
                น้ำในช่องท้องชนิดสิ่งซึมเยิ้มใสมักเกิดจากโรคตับแข็ง  ทั้งนี้เชื่อว่าการมีความดันเลือดดำตับและความดันเลือดในช่องท้องสูงขึ้น  ส่งผลให้น้ำซึมออกจากเส้นเลือดเข้าสู่ช่องท้อง  นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุให้เลือดไปหล่อเลี้ยงไตน้อยลง  ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนของไต  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย  จึงเป็นสาเหตุร่วมให้เกิดน้ำในช่องท้องหรือท้องมานเพิ่มขึ้น  รวมทั้งจากการอุ้มน้ำของเกลือโซเดียมที่บริโภคเข้าไป
                ส่วนน้ำในช่องท้องชนิดมีเซลล์สูงหรือชนิดสิ่งซึมเยิ้มข้นเป็นน้ำในช่องท้องที่เกิดจากการสร้างน้ำของเซลล์ตับ   หรือเซลล์เยื่อบุช่องท้องที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ   หรือจากการสร้างน้ำของเซลล์มะเร็ง

สาเหตุ
                สาเหตุของภาวะท้องมานที่พบได้บ่อย  ได้แก่
o   โรคตับแข็ง
o   โรคตับอักเสบ
o   โรคตับวาย
o   โรควัณโรคเยื่อบุช่องท้อง
o   โรคมะเร็ง  ทั้งจากโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อตับเอง  (มะเร็งปฐมภูมิ)  และมะเร็งชนิดอื่นๆที่แพร่กระจายสู่ตับ  (มะเร็งทุติยภูมิ)  และ/หรือ  โรคมะเร็งกระจายเข้าเยื่อบุช่องท้อง  เช่น  จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  เป็นต้น

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยภาวะท้องมานได้จากประวัติการเจ็บป่วย  อาการของผู้ป่วย  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต  การตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพช่องท้อง  การเจาะหรือดูดน้ำช่องท้องเพื่อตรวจดูเซลล์  (การตรวจทางเซลล์วิทยา)  การตรวจย้อมเชื้อจากน้ำในช่องท้องด้วยกล้องจุลทรรศน์  และการตรวจเพาะเชื้อจากน้ำในช่องท้อง  นอกจากนี้อาจมีการตรวจวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษา
                ภาวะท้องมานเป็นภาวะที่รักษาและควบคุมได้ยาก  อย่างไรก็ตามการรักษามักต้องรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องมาน  เช่น  การให้ยารักษาวัณโรคเมื่อท้องมานเกิดจากเชื้อวัณโรคเยื่อบุช่องท้อง  หรือการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุ  เป็นต้น
                นอกจากนั้นอีกวิธีการรักษาที่สำคัญคือ  การทำให้ปริมาณน้ำในช่องท้องลดลง  หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้น  ที่สำคัญได้แก่  การจำกัดน้ำดื่ม  การกินอาหารจืดหรือจำกัดการบริโภคเกลือโซเดียม  การให้ยาขับน้ำ  การให้ฮอร์โมนชนิดช่วยยับยั้งการเกิดน้ำในช่องท้อง
                แต่เมื่อการรักษาต่างๆดังกล่าวไม่ได้ผล  อาจรักษาโดยการเจาะหรือดูดน้ำออกจากช่องท้องเป็นครั้งคราว  ทั้งนี้ขึ้นกับอาการแน่นอึดอัดของผู้ป่วย  และบางกรณีอาจมีการผ่าตัดเพื่อให้น้ำในช่องท้องไหลกลับเข้าเส้นเลือดดำโดยตรง  ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้ให้การรักษาได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น  และมักได้ผลน้อย  จึงยังเป็นวิธีรักษามาตรฐาน

ผลข้างเคียง
                ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมานจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าปกติเสมอ  และน้ำในช่องท้องเองก็ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย  จึงอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้  จากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงของเยื่อบุช่องท้อง  และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นคือปริมาณน้ำจะเพิ่มแรงดันในช่องท้องทำให้แน่นอึดอัด  กดเบียดทับกระเพาะอาหาร  ลำไส้  และปอด  กินไม่ได้  ท้องผูก  หายใจแน่นติดขัด  และหอบเหนื่อย
ความรุนแรง
ภาวะท้องมานมีความรุนแรงสูง  เพราะรักษาให้หายได้ยาก  นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับสาเหตุต่างๆ  เช่น  เมื่อท้องมานเกิดจากโรคมะเร็ง  ความรุนแรงโรคจะสูงสุด  และยังขึ้นกับการติดเชื้อ  โดยเฉพาะในเยื่อบุช่องท้อง  ความรุนแรงโรคจะยิ่งสูงขึ้น

การดูแลตนเองและการพบแพทย์
                การดูแลตนเองที่สำคัญ  ได้แก่
o   ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
o   กินอาหารจืด  จำกัดเกลือโซเดียม  และจำกัดน้ำดื่ม
o   รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพราะร่างกายอยู่ในภาวะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ  จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

o   พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิมโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด



วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคฝีตับจากเชื้อรา

โรคฝีตับจากเชื้อรา

(รูปที่ 1 Candida ,http://www.gestaltreality.com)
                โรคฝีตับจากเชื้อรามักเป็นการติดเชื้อราชนิด  แคนดิดา  (Candida)  ซึ่งพบได้ไม่บ่อย  ประมาณร้อยละ  5-10  ของโรคฝีตับจากทุกสาเหตุ


ปัจจัยเสี่ยง
                ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย  ได้แก่
·       ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
·       มีโรคที่ต้องได้ยาสเตียรอยด์รักษาเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง
·       ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องหรือต่ำจากสาเหตุต่างๆ
·       ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องยาวนาน
·       ร่างกายอ่อนแอ  ร่วมกับมีการติดเชื้อราในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ

อาการ
                โรคฝีตับจากเชื้อรามีอาการเช่นเดียวกับโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย  แต่อาจมีไข้ต่ำๆ  เนื่องจากมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องหรือต่ำ  ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อโรค  ร่างกายจะต่อสู้ได้ไม่ดี


การวินิจฉัย  การดูแลตนเอง  การพบแพทย์  และการป้องกัน
                การวินิจฉัย  การดูแลตนเอง  การพบแพทย์  และการป้องกัน  เช่นเดีบวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย


แนวทางการรักษา
                โรคฝีตับจากเชื้อรามีวิธีการรักษาเช่นเดียวกับในการรักษาโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย  ยกเว้นตัวยารักษาซึ่งแตกต่างกัน  คือต้องเป็นชนิดรักษาเชื้อรา

ความรุนแรงและผลข้างเคียง
                โรคฝีตับจากเชื้อราเป็นโรคที่มีความรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ  5-30  ทั้งนี้ขึ้นกับการดื้อยา  สุขภาพผู้ป่วย  และการเกิดผลข้างเคียง  เช่นเดียวกับในโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย
                โดยทั่วไปโรคฝีตับจากการติดเชื้อราที่เกิดกับผู้ป่วยสุขภาพแข็งแรงสามารถรักษาหายได้ภายในระยะเวลา  4-12  สัปดาห์  เช่นเดียวกับ โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย  และไม่เป็นสาเหตุของโรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับ



วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย


                   





  

               โรคฝีตับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฝีตับที่พบบ่อยได้แก่  อี.  โคไล
(E. Coli)  เครบเซลลา (Klebsiella)  สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus)
  แบคทีเรียกลุ่ม  แอนแอโรบส์(Anaerobes)  เอนเทอโรค็อกไค  (Enterococci)  และ สแตฟิโลค็อกคัส  (Staphylococcus)ทั้งนี้จะเป็นเชื้อชนิดใดขึ้นกับแหล่งของเชื้อ  เช่น  เป็นการติดเชื้อลุกลามจากถุงน้ำดีหรือทางเดินน้ำดี  ไส้ติ่งอักเสบแล้วแตกเข้าช่องท้อง  โรคมะเร็งตับ  การผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับตับถุงน้ำดี  หรือทางเดินน้ำดีจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับตับ (เช่น  ถูกยิงหรือถูกแทง)  รวมถึงยังขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ  เพราะแต่ละประเทศมีความชุกของแบคทีเรียแต่ละชนิดแตกต่างกัน
               โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียเกิดได้ทุกส่วนของตับ  และอาจเกิดพร้อมกันหลายจุดทั่วตับ  โดยพบว่าเกิดในตับกลีบขวาประมาณร้อยละ  65 – 70  กลีบซ้ายประมาณร้อยละ  25 – 30  และเกิดพร้อมกันทั้งสองกลีบประมาณร้อยละ  5

ปัจจัยเสี่ยง
                ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย  ได้แก่
·       ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องหรือต่ำจากสาเหตุต่างๆ
·       ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
·       ผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ป่วยติดสุรา
·       ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต  จากการอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆทั้งในและนอกช่องท้อง
·       ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในอวัยวะต่างๆในช่องท้อง
·       ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดโรคตับ  ถุงน้ำดี  หรือท่อน้ำดี

อาการ
                อาการของโรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียจะเหมือนกับการติดเชื้อของอวัยวะอื่นๆทั่วไป  แต่มีอาการเกี่ยวกับตับร่วมด้วย  ที่พบบ่อยได้แก่
·       มีไข้สูง  หนาวสั่น  อาจถึงช็อกได้
·       อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  คลื่นไส้อาเจียน  น้ำหนักลด
·       ท้องเสีย
·       ดีซ่าน  (ตาและตัวเหลือง)
·       เจ็บหรือปวดท้องบริเวณตำแหน่งของตับ  (ช่องท้องด้านขวาตอนบน)  และตับคลำได้  (ตับปกติจะคลำไม่เจอ)

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย  ถิ่นที่อยู่อาศัย  ประวัติการเป็นโรคหรือการประสบอุบัติเหตุ  การผ่าตัด  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดซีบีซี                  (CBC)  เพื่อดูภาวการณ์ติดเชื้อ  การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ  การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  การเพาะเชื้อจากเลือด  การตรวจหาเชื้อหรือชนิดแบคทีเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์จากหนองในตับ  และจากการเพาะเชื้อจากหนองในตับ
แนวทางการรักษา
                การรักษา  ได้แก่  การให้ยาปฏิชีวนะ  โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะเฉพาะแบคทีเรียนั้นๆ  การเจาะหรือดูดหนองออก  และ/หรือการผ่าตัดใส่ท่อขนาดใหญ่เพื่อระบายหนองเมื่อการดูดหรือเจาะไม่ได้ผล  และการรักษาประคับประคองตามอาการ  เช่น  การให้ยาลดไข้  ยาบรรเทาอาการปวด  การให้น้ำเกลือหรืออาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย

ความรุนแรงของโรค
                โรคฝีตับจากเชื้อแบคทีเรียจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรง  เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ  5-30  แต่เป็นโรคที่รักษาหายได้ภายในระยะเวลา 4-12 สัปดาห์  และเมื่อหายแล้ว  ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับ
                ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง  ได้แก่
·       ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องหรือต่ำจากทุกสาเหตุ
·       สุขภาพไม่แข็งแรง  ขาดอาหาร  เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ  รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง
·       เป็นเบาหวานหรือโรคตับแข็ง
·       ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์
·       เป็นโรคที่ต้องใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
·       เกิดฝีหลายแห่งในตับ
·       เกิดผลข้างเคียงจากฝีตับ
·       ได้รับการรักษาล่าช้า
·       ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ

การดูแลตนเองและการพบแพทย์
·       ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ  โดยเฉพาะเรื่องการกินยาปฏิชีวนะ  ต้องให้ครบถ้วนและถูกต้อง  อย่าหยุดยาเองหรือขาดยา
·       รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
·       พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือมีอาการเลวลงโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด


การป้องกัน
                การป้องกันที่สำคัญ  ได้แก่
·       รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง  ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
·       หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้ว
·       รับพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ




วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคดีซ่าน

โรคดีซ่าน

(รูปที่ 1ดีซ่าน ,http://healthmeplease.com)
                โรคดีซ่านคือ  โรคที่ทำให้เยื่อตาและตัวเหลือง  ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว  ดีซ่านไม่ใช่โรค  แต่เป็นอาการหนึ่งของโรคต่างๆ  ที่ทำให้เลือดมีสารสีเหลืองหรือสารบิลิรูบิน  (Bilirubin)  สูงกว่าปกติ  สารสีเหลืองเหล่านี้จึงจับในเนื้อเยื่อต่างๆที่ผิวหนังและในเนื้อเยื่อตา  ส่งผลให้เป็นสีเหลือง
                ส่วนสารให้สีเหลืองในพืชผักและผลไม้คือ  สารแคโรทีน(Carotene)  มีมากในผักผลไม้สีเหลือง  แดง  และแสด  เช่น  แครอท  ฟักทอง  มะเขือเทศ  ส้ม  มะม่วงสุก  และมะละกอสุก  เมื่อกินปริมาณสูงต่อเนื่องจะมีผลให้ตัวเหลืองได้  (เกิดเฉพาะผิวหนัง  เพราะสารจะจับเฉพาะผิวหนัง)  แต่จะไม่ทำให้ตาหรือเนื้อเยื่ออื่นๆเหลือง  จึงไม่เรียกว่าโรคภาวะดีซ่าน
                สารบิลิรูบินในเลือดเป็นสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง  โดยปกติเมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุงาน  (เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ  120  วัน)  จะถูกทำลายที่ตับ  ส่วนหนึ่งของสารบิลิรูบินจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายจะถูกสร้างเป็นน้ำดี  และอีกส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยถูกดูดซึมกลับเข้ากระแสเลือด  แต่ในโรคที่เป็นสาเหตุของดีซ่านจะมีสารบิลิรูบินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติมาก  จนก่ออาการดีซ่าน
                สาเหตุการคั่งของสารบิลิรูบินในเลือดมีได้  3  สาเหตุหลัก  ได้แก่  สาเหตุจากโรคบางชนิดทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายสูงขึ้น  (โดยเม็ดเลือดแดงถูกทำลายในกระแสเลือดโดยตรง  ไม่ผ่านตับ)  สาเหตุจากโรคตับ  และสาเหตุจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี
                สาเหตุอาการดีซ่านจากโรคบางชนิดที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงในเลือดโดยตรง  ไม่ผ่านตับ ได้แก่  โรคมาลาเรีย  โรคเลือดบางชนิด  (เช่น  โรคทาลัสซีเมีย)  และโรคฉี่หนู  ดังนั้นเมื่อมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น  สารบิลิรูบินในเลือดจึงสูงขึ้น  ก่ออาการดีซ่าน  ซึ่งอาการดีซ่านจากสาเหตุนี้   ปัสสาวะอาจมีสีเข้มจากสารบิลิรูบินที่กรองออกทางไต  หรืออาจมีสีปกติ  ถ้าทำลายเม็ดเลือดแดงไม่มาก  แต่อุจจาระจะมีสีปกติ  เพราะน้ำดียังไหลลงลำไส้ได้ตามปกติ
                สาเหตุของอาการดีซ่านจากโรคตับเกิดจากตับอักเสบจากสาเหตุต่างๆที่พบได้บ่อย  เช่น  โรคไวรัสตับอักเสบ  ทำให้ตับไม่สามารถกำจัดสารบิลิรูบินได้ตามปกติ  สารนี้จึงเข้าสู่กระแสเลือด  ก่ออาการดีซ่าน  ซึ่งอาการดีซ่านจากสาเหตุนี้  ปัสสาวะจะมีสีเหลืองเข้มจากปริมาณสารบิลิรูบินที่กรองออกทางไต  ส่วนอุจจาระอาจมีสีปกติหรือสีซีด  (แต่ไม่มาก)  เพราะน้ำดียังไหลลงสู่ลำไส้ได้
                สาเหตุของอาการดีซ่านจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี  โดยเฉพาะท่อน้ำดีนอกตับ  ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งตับชนิดซีซีเอ  โรคนิ่วในท่อน้ำดี  โรคมะเร็งท่อน้ำดีรวม  โรคตับอ่อนอักเสบ  หรือโรคมะเร็งตับอ่อน  ดังนั้นน้ำดีจึงไหลลงสู่ลำไส้ไม่ได้  และจากการท้นของสารบิลิรูบินเข้ากระแสเลือด  อาการดีซ่านจากสาเหตุนี้จึงมีผลให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม  ส่วนอุจจาระจะมีสีซีดผิดปกติมาก

อาการ
                นอกจากตาเหลืองตัวเหลืองแล้ว  อาการต่างๆจะขึ้นกับสาเหตุที่เกิด  เช่น  สาเหตุของดีซ่านเกิดจากโรคตับอักเสบ  ก็จะมีอาการโรคตับอักเสบด้วย  นอกจากนั้นคืออาการคันตามตัวจากการระคายต่อผิวหนังของสารบิลิรูบิน

การวินิจฉัย
                แพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้จากประวัติการเจ็บป่วย  อาการของผู้ป่วย  สีผิวหนังและเยื่อตา  สีของปัสสาวะและอุจจาระ  การตรวจร่างกาย  การตรวจเลือดดูค่าสารบิลิรูบิน  และดูการทำงานของตับ  การตรวจปัสสาวะ  การตรวจหาเชื้อต่างๆ  เมื่อสงสัยว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อ  การตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานเมื่อสงสัยสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ  การตรวจไขกระดูกเมื่อสงสัยเป็นโรคเลือด  การตรวจภาพตับ  ท่อน้ำดี  ถุงน้ำดี  และตับอ่อน  ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์  หรือด้วยวิธีเฉพาะต่างๆเพิ่มเติม  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษา
                แพทย์จะให้การรักษาภาวะดีซ่านตามสาเหตุ  เช่น  การรักษาโรคตับอักเสบ  การผ่าตัดรักษานิ่ว  หรือการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุ  นอกจากนั้นจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ  โดยเฉพาะอาการคัน
                ถ้าภาวะดีซ่านเกิดจากการอุดตันของทางเดินน้ำดี  การรักษาคือการผ่าตัดหรือเจาะใส่ท่อ  เพื่อให้น้ำดีที่คั่งในตับหรือท่อน้ำดีไหลระบายออกนอกตับ  (ในบางสาเหตุอาจใช้การใส่ท่อขยายท่อน้ำดีแทนการผ่าตัด)

ผลข้างเคียงและความรุนแรง
                ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ  อาการคันจากการคั่งของสารสีเหลืองหรือสารบิลิรูบินในเลือด  และการเสียภาพลักษณ์จากการตัวเหลืองตาเหลือง
                ในเรื่องความรุนแรงของโรคดีซ่าน  ดังกล่าวแล้วว่า  ดีซ่านเป็นเพียงอาการของโรค  แต่ไม่ใช่เป็นโรค  ดังนั้นความรุนแรงของโรคดีซ่านจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุ  เช่น  ถ้าเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไวรัสตับอักเสบเอ  ความรุนแรงโรคจะต่ำ  แต่ถ้าเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบบี  ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น  และความรุนแรงโรคจะสูงสุดเมื่อโรคหรือภาวะดีซ่านเกิดจากโรคมะเร็ง
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
                การดูแลตนเองและการพบแพทย์ที่สำคัญ  ได้แก่
·       ดูแลตนเองตามโรคที่เป็นสาเหตุตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ  กินยาต่างๆให้ถูกต้อง  ครบถ้วน  อย่าซื้อยากินเอง  ควรปรึกษาแพทย์  พยาบาล  หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
·       พักผ่อนให้เพียงพอ  กินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง  5  หมู่  บางครั้งอาจต้องจำกัดอาหารประเภทต่างๆ  เช่น  ไขมัน  โปรตีน  เกลือ  ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค  โดยควรปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
·       ดื่มน้ำให้เพียงพอ  อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ  (ปากแห้ง  คอแห้ง  น้ำลายเหนียว  กระหายน้ำ  ปัสสาวะน้อย  อาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ  ขอบตาคล้ำ)
·       งดเหล้า  บุหรี่
·       การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคันจากสาเหตุการคั่งของสารบิลิรูบินในเลือด  ที่สำคัญได้แก่
-                   กินยาหรือทายาบรรเทาอาการตามแพทย์  พยาบาล  หรือ  เภสัชกรแนะนำ
-                   ดื่มน้ำมากๆ  เมื่อไม่มีข้อห้ามจำกัดน้ำจากโรคอื่นๆ  เพราะเมื่อผิวหนังชุ่มชื้น  อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
-                   ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด  เพราะทำให้ผิวแห้ง  เพิ่มอาการคัน  เลือกใช้สบู่ที่ไม่ใส่น้ำหอม  และควรเป็นสบู่อ่อนหรือสบู่เด็กอ่อน
-                   ใช้โลชั่นหรือครีมสำหรับผิวแห้งหลังอาบน้ำเสมอ
-                   ใส่เสื้อผ้าหลวมๆสบายๆ  เลือกชนิดผ้าที่ไม่เพิ่มอาการคัน  (ผ้าฝ้าย  100%)  และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี  ไม่ออกแดดโดยไม่จำเป็น  เพราะการมีเหงื่อออกมากจะเพิ่มอาการคันได้
-                   ตัดเล็บให้สั้น  รักษาความสะอาดเล็บเพื่อลดโอกาสเกิดแผลติดเชื้อจากการเกา  อย่าเกาแรงๆ  แต่ให้ลูบหรือตบเบาๆ  บริเวณที่คันแทน  หรือถ้าคันมากอาจวางกระเป๋าน้ำแข็งประคบ  เพราะมีรายงานว่าช่วยลดอาการคันได้
-                   ควรพบแพทย์ถ้าคันจนนอนไม่หลับ  อาการคันมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  คันมากหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น  เกิดแผลติดเชื้อจากการเกา  แล้วแผลไม่ดีขึ้นหรือลุกลามหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว
-                   รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อน
-                   พบแพทย์ตามนัดเสมอ  และเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม  หรือเมื่ออาการต่างๆแย่ลง  ควรรีบไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

การป้องกัน
                การป้องกันโรคดีซ่านคือป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุ  สำหรับบางโรคป้องกันได้  การป้องกันที่ดีที่สุดคือ
o   การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อลดโอกาสการเกิดตับอักเสบจากการติดเชื้อ
o   งดสุราเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคตับแข็ง
o   ระมัดระวังการกินยาและสมุนไพร

o   เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆควรรีบพบแพทย์